ความหมายของ "คิมิ" และ "คิมิงะโยะ" ของ คิมิงะโยะ

การตีความแบบดั้งเดิม

นับตั้งแต่สมัยเฮอังหรือในสมัยก่อนหน้า คำว่า "คิมิ" ใช้ในลักษณะดังต่อไปนี้

  • ใช้เป็นคำนามเพื่อแทนตัวพระจักรพรรดิหรือขุนนางชนชั้นสูงผู้ใดผู้หนึ่ง ความหมายตรงกับคำว่า master ในภาษาอังกฤษ[9][10] (ในกรณีนี้ถ้าหมายถึงพระจักรพรรดิควรแปลว่า ฝ่าบาท ถ้าหมายถึงขุนนางควรแปลว่า นายท่าน)
  • ใช้เป็นคำแสดงความยกย่องต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือใช้คำนี้ต่อท้ายชื่อเพื่อเป็นชื่อชี้เฉพาะบุคคล[9] ตัวอย่างเช่น ฮิคารุ เก็นจิ (ญี่ปุ่น: 光源氏; Hikaru Genji) ตัวละครเอกในงานเขียนเรื่องตำนานเก็นจิ มีชื่อที่เรียกในเรื่องว่า "ฮิคารุโนะคิมิ" (光の君; Hikaru no Kimi)

การตีความในปัจจุบัน

ตามรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ซึ่งได้ตราไว้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นไม่ทรงมีฐานะเป็นองค์อธิปัตย์ แต่ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ

ในปี ค.ศ. 1999 ระหว่างการพิจารณากฎหมายว่าด้วยธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่น มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายอย่างเป็นทางการของคำว่า "คิมิ" และ "คิมิงะโยะ" อยู่หลายครั้ง ในวันที่ 29 มิถุนายนของปีนั้น นายกรัฐมนตรีเคโซ โอบูจิ จึงได้เอ่ยถึงนิยามของทั้งสองคำไว้ดังนี้

"คิมิ" หมายถึงองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ ผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ และพระราชสถานะของพระองค์นั้นได้มาจากฉันทามติของมหาชนชาวญี่ปุ่นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย และวลี "คิมิงะโยะ" หมายถึงรัฐของเรา ซึ่งก็คือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิได้ทรงขึ้นครองราชย์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ โดยฉันทามติของมหาชนชาวญี่ปุ่น นี่จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลในการใช้บทร้อง "คิมิงะโยะ" เพื่อแสดงความหมายถึงความปรารถนาให้ชาติของเราดำรงไว้ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขชั่วกาลนาน[11]

ใกล้เคียง